ลูกเล็กโมโหโวยวาย ทำอย่างไรดี
9 พฤษภาคม 2561
พญ.ศศิธร ปรีชาวุฒิเดช
Photo credit: www.pixabay.com
เป็นคำถามที่หมอพบบ่อยเลยค่ะ ก่อนที่จะทำอะไรคงจะต้องทำความเข้าใจเด็กๆกันก่อนนะคะ
“เกิดจากอะไรได้บ้าง”
1. ปัจจัยภายใน
- พื้นอารมณ์เด็ก เด็กแต่ละคนพื้นอารมณ์แตกต่างกันไป ทำให้ในเด็กบางคนมีแนวโน้มที่จะถูกกระตุ้นได้ง่าย มีปฏิกิริยาได้มาก
- พัฒนาการเด็ก ในวัยเด็กเล็กเป็นช่วงวัยที่มีพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น และเป็นช่วงเวลาที่มีการรับรู้อารมณ์ที่มากขึ้นและซับซ้อนมากขึ้น จึงเป็นช่วงเวลาที่กำลังพัฒนาการควบคุมจัดการอารมณ์ที่เหมาะสม
- ความรู้สึกทางกาย เช่น ง่วงนอน หิว ไม่สบาย เป็นต้น
2. ปัจจัยภายนอก
- อารมณ์และการจัดการพฤติกรรมของพ่อแม่ เช่น การตำหนิ ตี ลงโทษแรง วิธีนี้ได้ผลรวดเร็ว แต่จะสังเกตว่าเด็กมักยังมีพฤติกรรมดังกล่าวอยู่ และรุนแรงมากขึ้น ส่งผลเสียทั้งในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกัน มุมมองเชิงลบที่เด็กมีต่อตนเอง และเรียนรู้การจัดการปัญหาด้วยวิธีแรงๆ แต่อย่างไรก็ตามการตามใจจนเกินไป เด็กก็จะเรียนรู้วิธีโวยวายเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ ก็จะมีพฤติกรรมดังกล่าวต่อเนื่องเช่นเดียวกัน
- เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงภายในบ้านที่อาจส่งผลต่อความเครียด กังวลในเด็ก เช่น พ่อแม่ทะเลาะกัน การปรับตัวกับการมีน้อง การเริ่มไปโรงเรียน เป็นต้น
“จัดการอย่างไรดี”
1. เข้าใจธรรมชาติของอารมณ์ว่าเป็นสิ่งที่เกิดได้เป็นปกติตามธรรมชาติ แต่การจัดการอารมณ์ และการแสดงออกที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า และเป็นสิ่งที่เด็กกำลังพัฒนาค่ะ
2. ยอมรับ เห็นจุดดี เชื่อมั่นในตัวเค้าเสมอ เป็นประตูแรกของการจัดการเชิงบวกค่ะ
3. ปรับมุมมองที่มุ่งโฟกัสให้เด็กเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนเป็นปรับเราอย่างไรดีที่จะช่วยให้ลูกเปลี่ยนแปลงจัดการอารมณ์ได้เก่งขึ้น
4. ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเกิดพฤติกรรมนี้อย่างละเอียดทั้งก่อนเกิดพฤติกรรม ช่วงที่เกิดพฤติกรรม และหลังเกิดพฤติกรรม การจัดการของพ่อแม่เป็นอย่างไร การจัดการมีผลต่อการเกิดพฤติกรรมอย่างไร
5. จัดการอารมณ์ตนเองก่อน ให้นิ่ง สงบ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะพ่อแม่เป็นคนที่สำคัญที่จะช่วยให้เด็กรับรู้และจัดการอารมณ์ได้ และเป็นตัวอย่างของการจัดการอารมณ์ที่ดี
6. เข้าหาเด็ก ปลอบโยน ถาม/สะท้อนอารมณ์เด็ก เช่น “หนูโกรธอยู่ใช่ไหม” จะช่วยให้เด็กรู้ว่าพ่อแม่เข้าใจ ยอมรับ ค่อยๆรับรู้อารมณ์ จัดการอารมณ์ที่เกิด
7. เมื่อเด็กอารมณ์สงบ จะเป็นช่วงเวลาที่เด็กพร้อมที่จะรับฟัง คิดตามในสิ่งที่พ่อแม่สอน จึงค่อยสอนเด็กในช่วงเวลานี้ ชมที่เด็กจัดการอารมณ์ได้ดี และสอนสั้นๆ ภาษาที่เด็กเข้าใจ โดยไม่ตำหนิ พูดรายละเอียดพฤติกรรมที่เด็กทำซ้ำอีก
8. ชมในช่วงเวลาอื่นๆ เมื่อเด็กทำสิ่งที่ดี จัดการอารมณ์ได้ดี
9. การจัดการก่อนเกิดพฤติกรรมจะง่ายกว่าหลังเกิดพฤติกรรม ดังนั้นการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น นอนหลับให้เพียงพอ บอกและกำหนดกติกาล่วงหน้าก่อนจะทำสิ่งต่างๆที่อาจมีปัญหาพฤติกรรมตามมา การทำสิ่งแวดล้อมในบ้านให้เป็นที่ๆปลอดภัย สงบ เป็นสุขทั้งทางกายและใจ รวมถึงเมื่อเด็กเริ่มมีปฏิกิริยาอารมณ์ในทางลบ หากเข้าไปเบี่ยงเบนความสนใจ ดึงออกจากสถานการณ์ ก็จะช่วยให้โอกาสเกิดพฤติกรรมลดลงค่ะ
ลองดูนะคะ ว่าได้ผลอย่างไร ไม่มีเด็กคนไหนอยากเป็น “เด็กไม่ดี”ค่ะ เด็กทุกคนอยากเป็น “เด็กดี” สำหรับพ่อแม่ที่เค้ารักเสมอ 😀