13 มิถุนายน 2561
พญ. ฐานิยา บรรจงจิตร
Photo credit: www.pixabay.com
เชื่อว่าคุณผู้หญิงหลายท่านอาจประสบกับการมีอารมณ์เปลี่ยนแปลง หรือมีอาการทางด้านร่างกายต่างๆในช่วงก่อนมีประจำเดือน จนอาจทำให้ใช้ชัวิตประจำวันหรือทำงานได้ไม่ปกติเพราะอาการเหล่านั้น ซึ่งจริงๆแล้วภาวะดังกล่าวถือเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในกลุ่มประชากรผู้หญิงเลยค่ะ โดยในบางรายอาจมีความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกัน
- กลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือนเป็นอย่างไร พบได้เยอะไหม?
กลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือน (premenstrual dysphoric disorder หรือตัวย่อคือ PMDD) เป็นรูปแบบกลุ่มอาการที่รุนแรงของกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน ทำให้เกิดการมีอาการผิดปกติทางร่างกายจิตใจหรืออารมณ์อย่างรุนแรงโดยสัมพันธ์กับช่วงก่อนการมีประจำเดือน ทำให้มีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือการทำงาน ซึ่งถูกกระตุ้นได้จากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน (ovarian steroid hormone)ในช่วงครึ่งหลังของวงรอบการมีประจำเดือน อาการมักเกิดขึ้นในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน จากนั้นเริ่มดีขึ้นภายหลังการมีประจำเดือน 2-3 วันและหายไปภายใน 1 สัปดาห์หลังประจำเดือนหมด ทั้งนี้กลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือนพบได้ถึง 3-7% ของผู้หญิงทั่วไป ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงทีเดียวค่ะ อย่างไรก็ตามพบว่า 80% ของผู้หญิงทั่วไปมีภาวะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงหรือมีอาการด้านร่างกายก่อนมีประจำเดือนเล็กน้อยซึ่งไม่ได้รุนแรงถึงระดับของกลุ่มอาการดังกล่าว
- กลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือนมีอาการอย่างไรได้บ้าง?
อาการของกลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือนสามารถแบ่งได้เป็น 3 ด้านหลักดังนี้
1. อาการด้านอารมณ์ (mood symptoms) : อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่ายขึ้น บางรายอาจมีอารมณ์ซึมเศร้า หรือวิตกกังวลได้
2. อาการด้านพฤติกรรม (behavior symptoms) : รับประทานมากขึ้นหรือน้อยลงกว่าปกติ นอนหลับมากขึ้นกว่าปกติหรือนอนไม่หลับ
3. อาการด้านร่างกาย (physical symptoms) : ปวดศีรษะ คัดตึงเต้านม รู้สึกบวมตามตัว น้ำหนักเพิ่มขึ้น
- กลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือนเกิดจากอะไร?
นอกจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน (ovarian steroid hormone)ในช่วงครึ่งหลังของวงรอบการมีประจำเดือนตามที่ได้อธิบายข้างต้นแล้วแล้ว มีการศึกษาพบว่าอาการด้านอารมณ์ของภาวะดังกล่าวนี้เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสารสื่อประสาทชนิด serotonin ซึ่งมีระดับลดลงร่วมด้วย นอกจากนี้ในผู้หญิงที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวมีกลุ่มอาการดังกล่าวก็อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเช่นกันค่ะ
- กลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือนที่ไม่รุนแรงเป็นอย่างไร?
สำหรับกลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือนที่ไม่รุนแรง (premenstrual syndrome หรือตัวย่อคือ PMS) จะมีความรุนแรงน้อยกว่าและมักรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันหรือการทำงานน้อยกว่า โดยการวินิจฉัยจะต้องมีอาการด้านอารมณ์อย่างน้อย 1 อาการ (ซึมเศร้า/หงุดหงิดง่าย/วิตกกังวล/รู้สึกสับสน/แยกตัวจากสังคม) หรืออาการด้านร่างกายอย่างน้อย 1 อาการ (คัดตึงเต้านม/ท้องอืด/ปวดศีรษะ/รู้สึกแขนขาบวมขึ้น) ในช่วง 5 วันก่อนการมีประจำเดือนอย่างน้อย 3 รอบประจำเดือน
- เราจะจัดการกลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือนได้อย่างไร?
การรักษากลุ่มอาการดังกล่าวอาจทำได้โดยการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ออกกำลังกายให้พอเหมาะอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ พักผ่อนให้เพียงพอให้ได้ 6-8 ชั่วโมง งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้นหรืออาการเป็นมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ทำให้ทำงานไม่ได้ อาจพิจารณาพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับการรักษาเพิ่มเติมได้ค่ะ
Reference
- Fritz MA, Speroff L. Clinical gynecologic endocrinology and infertility. 8th ed. Philadelphia: Wolters Kluwer Health/Lippincott Williams & Wilkins; 2011. 568–79 p.
- Benjamin James Sadock et al. Synopsis of Psychiatry. 11th ed.: : Wolters Kluwer; 2015. 841–42 p.