21 กันยายน 2561
พญ. ฐานิยา บรรจงจิตร
Photo credit: www.pixabay.com
โรคแพนิค (Panic disorder) คืออะไร
หลายท่านอาจจะเคยได้ยินชื่อของโรคแพนิคมาก่อน โรคแพนิคจัดอยู่ในกลุ่มโรควิตกกังวลแบบฉับพลันซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ทำให้คนที่มีอาการเกิดความกลัวหรือไม่สบายใจอย่างรุนแรงร่วมกับมีอาการทางระบบประสาทอัตโนมัติหลายอาการ ส่งผลให้รู้สึกทรมานกับอาการที่เป็นอย่างมาก จนบางครั้งรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะเสียชีวิตเลยทีเดียวค่ะ
โรคแพนิคสามารถพบได้ประมาณ 1-4% ในทุกกลุ่มอายุ (เฉลี่ยที่อายุประมาณ 25 ปี) โดยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 2-3 เท่า สาเหตุอาจเกิดจากพันธุกรรม ความแปรปรวนของเคมีในสมอง โดยเฉพาะ norepinephrine, serotonin, และ GABA และมีการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติที่ไวกว่าปกติ
อาการของโรคแพนิคเป็นอย่างไร
โรคแพนิคจะมีอาการทางระบบประสาทอัตโนมัติตั้งแต่ 4 อาการต่อไปนี้ขึ้นไปเกิดขึ้นพร้อมๆกัน : ใจสั่นหรือหัวใจเต้นเร็ว / เหงื่อแตก / มือสั่นหรือตัวสั่น / หายใจลำบากหรือหายใจไม่ออก / รู้สึกเหมือนมีก้อนขัดในลำคอ / เจ็บหรือแน่นหน้าอก / คลื่นไส้หรือไม่สบายท้อง / เวียนศีรษะ หน้ามืด / ชาตามตัว / รู้สึกหนาวสั่น หรือหนาวๆร้อนๆ / รู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมแปลกไปหรือรู้สึกว่าตัวเองแปลกไปจากเดิม / รู้สึกกลัวว่าจะควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือกลัวว่าจะเป็นบ้าเสียสติ /กลัวว่าตัวเองจะเสียชีวิต ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็วและจะมีอาการสูงสุดภายใน 10 นาที แต่มักจะไม่เกิน 1 ชั่วโมง ทำให้คนที่เป็นรู้สึกทรมานกับอาการมาก รู้สึกกลัว เช่น คิดว่าเป็นโรคหัวใจหรือกำลังจะเสียชีวิต จึงมักจะไปตรวจที่โรงพยาบาลทันที แพทย์ทำการตรวจร่างกายหรือตรวจเพิ่มเติมก็หาสาเหตุไม่พบ ยิ่งทำให้ผู้ที่มีอาการมีความกังวลขึ้นอีก กลัวว่าตัวเองจะมีอาการซ้ำขึ้นมา ซึ่งอาการก็สามารถเป็นขึ้นมาโดยที่ไม่รู้ตัวได้จริงๆ ทำให้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน จนบางครั้งเกิดการหลีกเลี่ยงสถานที่หรือสถานการณ์ที่รู้สึกว่าอาจทำให้เกิดอาการ บางครั้งไม่กล้าไปไหนมาไหนคนเดียวเนื่องจากกังวลว่าหากเกิดอาการขึ้นจะไม่มีใครช่วยตนเองได้ ซึ่งภาวะนี้เรียกว่า agoraphobia นั่นเองค่ะ
อย่างไรก็ตามหากจะวินิจฉัยโรคแพนิค จำเป็นที่จะต้องตรวจประเมินทางด้านร่างกายก่อน เช่น ตรวจประเมินระบบหัวใจและการหายใจ หรือการทำงานของต่อมไทรอยด์เนื่องจากโรคทางด้านร่างกายบางโรคจะให้อาการคล้ายๆอาการข้างต้นได้
แม้ว่าอาการของโรคแพนิคฟังดูค่อนข้างน่ากลัว อาจทำให้ผู้ที่มีอาการรู้สึกกังวล โดยเฉพาะการกังวลว่าตนเองจะเสียชีวิต แต่โรคแพนิคก็ไม่ทำให้มีอันตรายถึงชีวิตและสามารถรักษาได้ค่ะ
การรักษาโรคแพนิค
หากท่านสงสัยว่ามีอาการของโรคแพนิคแต่ยังไม่แน่ใจ สามารถเข้ารับการประเมินและตรวจวินิจฉัยได้ค่ะ ซึ่งแนวทางการรักษาจะประกอบไปด้วยการใช้ยา การทำจิตบำบัด และการฝึกเทคนิคการผ่อนคลาย เช่น การฝึกการหายใจ รวมถึงลดตัวกระตุ้นที่จะทำให้เกิดอาการ ได้แก่ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน การพักผ่อนที่เพียงพอและการออกกำลังกายที่ไม่หนักจนเกินไปก็มีส่วนช่วยให้อาการแพนิคดีขึ้นได้เช่นกัน
อ้างอิง
Benjamin J. Sadock , Virginia A. Sadock , Pedro Ruiz MD. Kaplan and Sadock's Synopsis of Psychiatry, 2014.