21 กุมภาพันธ์ 2562
นพ.พร ทิสยากร
ทุกๆสัปดาห์ จะมีผู้มารับบริการที่คลินิกหลายท่านด้วยเรื่องความอึดอัดทุกข์ทรมานที่เกิดจากอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder) ซึ่งปัญหานี้เป็นภาวะความเจ็บป่วยทางจิตเวชที่พบได้บ่อยพอควร ความชุกประมาณ 1-3 % ของประชากร
บางครั้งเราอาจจะคิดกังวลครั้งสองครั้งว่าเราล็อคประตูบ้านประตูรถหรือยัง รู้สึกต้องล้างมือเพิ่มเพราะกลัวเชื้อโรคสกปรก หรือมีความคิดแรงแรงในใจที่ต้องส่ายหน้ากับตัวเอง แต่ถ้าหากความคิดนั้นแสดงออกมามาก และต่อเนื่องยาวนานเกินไป ในรูปแบบของความคิดที่ล่วงล้ำจู่โจมขึ้นมาเอง (intrusive thoughts) ไม่ใช่ความตั้งใจของผู้ป่วย อาจคิดเป็นภาพ ความจำ หรือ ความรู้สึกซ้ำๆ ความคิดเหล่านี้ย่อมก็ให้เกิดความรู้สึกอึดอัด ทุกข์ทรมานใจ ไม่สบายใจ กังวล กลัว หงุดหงิด หรือ โกรธโมโห
เพื่อหักล้างบรรเทาความคิดซ้ำๆ คนคนนั้นก็จะพยายามเก็บกด เพิกเฉย ต่อความคิด แต่บ่อยครั้งความคิดความรู้สักก็ผลักดันให้เกิดกระบวนการในใจย้ำๆ หรือกระทำพฤติกรรมอะไรออกมาซ้ำๆ (compulsive behaviors) ที่พบบ่อย เช่น การล้างมือ การทำความสะอาด การตรวจเช็ค จัดเรียง นับจำนวน ไหว้ สบถ ท่องมนต์ หรือ มีท่าทางพิธีกรรมส่วนตัวลับๆ เป็นต้น
กระบวนการย้ำคิด ย้ำไม่สบายใจ ย้ำทำซ้ำๆนี้ หากเกิดขึ้นยาวนานหลายเดือน จะส่งผลให้เกิดความเครียดทุกข์ทรมานอย่างมาก กระทบต่อการทำหน้าที่ในชีวิตสังคม เพราะคิดวกวนจนรบกวนสมาธิความจำเหตุผล ความรู้สึกอึดอันจนเครียดหมดแรงนอนไม่หลับ แม้บางครั้งจะรู้ว่าอาการเหล่านี้มันไม่สมเหตุสมผล ไร้สาระ ไม่เป็นที่ต้องการของตนเอง แต่ก็หยุดคิดหยุดทำซ้ำๆไม่ได้ จนเหน็ดเหนื่อย เสียพลังงาน เสียเวลาของชีวิตที่จะทำอย่างอื่นที่ควรจะทำไป
ก่อนหน้านี้โรคย้ำคิดย้ำทำถูกจัดกลุ่มไว้ในกลุ่มโรควิตกกังวล แต่เกณฑ์วินิจฉัย DSM-5 ตั้งแต่ปี 2013 จนถึงปัจจุบัน แยกปัญหานี้ออกเป็นกลุ่มโรคเฉพาะเจาะจงของมันเอง เพราะลักษณะอาการ ข้อมูลทางพันธุกรรม และระบบในสมองที่เป็นปัญหาของโรคย้ำคิดย้ำทำนั้นแตกต่างจากโรควิตกกังวลอื่นๆ กล่าวคือ มีการทำงานบกพร่องของวงจรสมองส่วนหน้า anterior cingulate gyrus และ orbitofrontal cortex ที่เชื่อมโยงกับสมองส่วนลึกที่ชื่อ striatum โดยเคมีหลักที่เกี่ยวข้องคือ serotonin, dopamine, และ glutamate
โรคอื่นๆที่พบในกลุ่มนี้คือ โรคเก็บสะสมของ (hoarding disorder), โรคคิดว่าตนเองมีรูปร่างผิดปกติ (body dysmorphic), โรคดึงผม (trichotillomania), โรคแกะผิดหนัง (skin picking disorder) นอกจากนั้นโรคย้ำคิดย้ำทำยังพบร่วมกับโรคอื่นๆได้ เช่น โรควิตกกังวลความเจ็บป่วย (illness anxiety disorder) โรคทิกส์ พบบ่อยที่คนที่มีโรคย้ำคิดย้ำทำจะมีบุคลิกที่จริงจัง ไม่ยืดหยุ่น สมบูรณ์แบบ มีกฎเกณฑ์บรรทัดฐานค่อนข้างมาก
บ่อยครั้งโรคย้ำคิดย้ำทำอาจซ่อนอยู่โดยไม่รู้ตัว เนื่องจากผู้ป่วยบางรายอาจคิดว่าอาการย้ำคิดย้ำทำเป็นเรื่องปกติของตนเอง มีเหตุมีผลในตัวของมันเอง แม้ตนเองหรือคนที่อยู่รอบข้างจะถูกกระทบจากอาการเป็นอย่างมากแล้ว โรคย้ำคิดย้ำทำที่ไม่ได้รับการวินิจฉัย และรักษาเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดโรคอื่นๆร่วมตามมา เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ปัญหานอนไม่หลับ อาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือ อ่อนแรง
การรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ มีองค์ประกอบสำคัญอยู่สามอย่างคือ
1) การรักษาด้วยยาต้านเศร้า เช่น fluoxetine, sertraline, escitalopram, fluvoxamine, หรือ clomipramine ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้ระดับยาต้านเศร้าที่ค่อนสูงจึงจะหายดี
2) การทำจิตบำบัด โดยเฉพาะ cognitive behavioral therapy (CBT)
3) การลดระดับความเครียดที่เกิดจากภายในภายนอกของผู้ป่วยนั้นๆ ส่วนใหญ่อาการจะเริ่มดีขึ้นใน 2-3 เดือน แต่ต้องรักษาต่อเนื่องเพื่อป้องกันไม่ให้โรคกลับเป็นซ้ำเร็ว โดยระยะเวลาเฉลี่ยของการรักษาอยู่ที่ประมาณ 1-2 ปีครับ
โรคย้ำคิดย้ำทำเป็นโรคที่ทรมานแต่สามารถรักษาได้ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ตอบสนองต่อการรักษาร่วมระหว่างยา และการทำจิตบำบัดค่อนข้างดี ทำให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตที่เบาสบายได้มากขึ้น ใช้ศักยภาพของตนเองได้เต็มที่มากขึ้น โดยถูกขัดขวางจากอาการย้ำคิดย้ำทำน้อยที่สุดครับ
References
1) Donald W. Black, M.D., and Jon E. Grant, M.D., M.P.H., J.D. 2014. DSM-5® Guidebook. The Essential Companion to the Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, Fifth Edition
2) Hirschtritt ME1, Bloch MH2, Mathews CA3. JAMA. 2017 Apr 4;317(13):1358-1367.