คำถามที่พบบ่อย
1. เตรียมตัวอย่างไรก่อนพบแพทย์ครั้งแรก
-
ผู้รับบริการควรมาถึงก่อนนัดประมาณ 15-30 นาที
-
อาจนำเอกสารข้อมูลทางการแพทย์จากโรงพยาบาล คลินิก แพทย์ท่านอื่นๆหรือบันทึกประวัติการรักษา ครอบคลุมเรื่องประวัติ การวินิจฉัย ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการณ์ ผลตรวจภาพเอกซเรย์ เช่น CT Scan หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (MRI) การรักษาที่ได้รับก่อนหน้านี้
-
อาจบันทึกปัญหาหรืออาการความทุกข์ที่มีอยู่ รวมถึงคำถามที่สงสัยเพื่อแพทย์จะได้รับข้อมูลครบถ้วนและตอบข้อสงสัยของท่านได้
-
เตรียมยารักษาโรคทางกาย ยาจิตเวช อาหารเสริม ยาสมุนไพร ทั้งหมดที่ท่านเคยใช้หรือใช้ในปัจจุบันมาด้วย
2. เตรียมตัวอย่างไรก่อนพบแพทย์ครั้งต่อไป
-
ผู้รับบริการควรมาถึงก่อนนัดประมาณ 15-30 นาที
-
อาจบันทึกปัญหาหรืออาการความทุกข์ที่มีอยู่และเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงคำถามที่สงสัยเพื่อแพทย์จะได้รับข้อมูลครบถ้วนและตอบข้อสงสัยของท่านได้
-
นำการบ้านหรือการทดลองที่แพทย์แนะนำให้ท่านทำหลังจากการรักษาครั้งก่อนหน้ามา เพื่อผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
-
นำยาที่ได้จากคลินิกครั้งก่อนหรือนำยาทั้งหมดที่ท่านใช้อยู่มาด้วย เพื่อจะได้ตรวจสอบผลการรักษาและผลข้างเคียงอย่างถูกต้อง
3. กระบวนการตรวจรักษาของจิตแพทย์เป็นอย่างไร
-
หลังจากท่านเข้ามาในห้องตรวจ จิตแพทย์จะแนะนำข้อมูลข้อตกลงเบื้องต้นของการตรวจรักษา เริ่มถามคำถามซักประวัติในด้านต่างๆอย่างละเอียดเพื่อทำให้สามารถสรุปประเด็นปัญหา และวินิจฉัยปัญหาเบื้องต้นได้
-
ขณะเดียวกันจิตแพทย์จะฟังอย่างตั้งใจเพื่อให้สามารถเข้าใจและเชื่อมโยงกับท่านได้
-
จิตแพทย์อาจทำการตรวจสภาพจิตโดยการถามคำถามมาตรฐานต่างๆเพื่อประเมินระบบความคิด อารมณ์ หรือ พฤติกรรมของท่าน
-
บ่อยครั้ง จิตแพทย์จะทำการตรวจร่างกายหรือตรวจทางระบบสมองเหมือนแพทย์ในสาขาอื่น
-
ในผู้รับบริการบางรายอาจมีการทำแบบสอบถามมาตรฐานเพื่อคัดกรองหรือประเมินความรุนแรงของปัญหาทางจิตเวชบางอย่าง เช่น แบบสอบถามภาวะอารมณ์ แบบประเมินความจำและการทำงานของสมอง แบบคัดกรองโรคสมาธิสั้น เป็นต้น
-
เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว จิตแพทย์จะสรุปผลการตรวจประเมินเบื้องต้น อธิบายการวินิจฉัยหรือวินิจฉัยแยกโรคที่ท่านมี ให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาหรือโรคต่างๆรวมถึงแนะนำและหาข้อสรุปร่วมกันเกี่ยวกับการตรวจเพิ่มเติม ทางเลือกในการรักษา การใช้ยา วิธีการปฏิบัติตัว แนวทางการทำจิตบำบัด รวมถึงแผนการรักษาในระยะต่างๆ
-
จิตแพทย์อาจเริ่มให้คำปรึกษา แนะนำวิธีการแก้ปัญหาที่เผชิญ หรือเริ่มทำการจิตบำบัดตั้งแต่ครั้งแรกของการตรวจรักษา
-
สุดท้าย จิตแพทย์สนับสนุนให้ท่านถามคำถามที่สงสัยก่อนที่จะหมดเวลาการนัดหมายครั้งนั้น
4. ครอบครัว เพื่อน หรือคนสำคัญต้องเข้าห้องตรวจได้ด้วยหรือไม่
-
ข้อมูลจากคนรอบข้างมีประโยชน์ต่อการตรวจรักษา แต่ขึ้นอยู่กับผู้รับบริการว่าต้องการให้คนรอบข้างให้ข้อมูลหรืออยู่ในห้องตรวจด้วยหรือไม่
-
แพทย์จะสอบถามผู้รับบริการว่าอนุญาตให้แพทย์รับหรือให้ข้อมูลจากคนรอบข้าง รวมถึงอนุญาตให้ญาติของผู้รับบริการอยู่ด้วยในห้องตรวจในบางช่วงของการตรวจรักษาหรือไม่
-
ถ้าอนุญาต ส่วนใหญ่แพทย์จะเริ่มการตรวจประเมินโดยมีทั้งผู้รับบริการ และ ญาติเข้ามาด้วย ต่อมาอาจเชิญให้ญาติออกจากห้องตรวจเพื่อจะได้ให้ความสนใจกับผู้รับบริการได้เต็มที่ สุดท้ายอาจเชิญญาติเข้ามาอีกครั้งเพื่อสรุป วางแผนการรักษาร่วมกัน และ ตอบคำถามที่สงสัย
5. ข้อมูลการตรวจรักษามีความปลอดภัยเป็นส่วนตัวหรือไม่
-
บุคลากรของกายใจคลินิกมีหน้าที่ปฏิบัติตามจริยธรรมของวิชาชีพในการรักษาความลับของท่านอย่างสูงสุด
-
ข้อมูลของท่านจะได้รับการบันทึกและจัดเก็บอย่างปลอดภัยตามมาตรฐาน
-
กายใจคลินิกจะไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลของท่านได้ ถ้าไม่ได้รับการอนุญาตจากท่านหรือผู้แทนโดยชอบธรรมของท่านอย่างเป็นทางการ ยกเว้นข้อมูลที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในภาวะฉุกเฉิน
6. ใช้ระยะเวลานานเท่าไรในการตรวจแต่ละครั้ง
-
หลังจากเข้าลงทะเบียนยื่นบัตรที่แผนกต้อนรับ ผู้รับบริการนั่งรอตรวจวัดความดัน โดยอาจให้ท่านทำแบบสอบถามทางจิตวิทยาเบื้องต้นขณะนั่งรอ ใช้เวลาประมาณ 15-30 นาทีในครั้งแรก หรือ 5-10 นาทีในการนัดครั้งต่อไป
-
การตรวจประเมินเชิงลึกครั้งแรก ส่วนใหญ่แพทย์จะใช้เวลาประมาณ 40-60 นาที
-
การตรวจติดตามครั้งต่อๆไป จะใช้เวลาพบแพทย์ประมาณ 15-30 นาที ขึ้นกับความซับซ้อนของปัญหา ลักษณะการรักษาและการทำจิตบำบัด การตกลงร่วมกันของแพทย์และผู้รับบริการ
-
หลังจากพบแพทย์แล้ว จะใช้เวลาอีกประมาณ 10-20 นาทีเพื่อรอรับยา ทำนัด และ จ่ายค่ารักษา
-
ระยะเวลาที่ใช้ในกายใจคลินิกอาจมีความยืดหยุ่นขึ้นกับจำนวนผู้ป่วย ลักษณะผู้ป่วยในแต่ละวัน แต่เราจะพยายามให้ตรงต่อเวลาที่สุด
7. สามารถตรวจผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตรุนแรงได้หรือไม่
-
กายใจคลินิกเป็นคลินิกให้บริการแบบผู้ป่วยนอก สามารถดูแลให้การรักษาปัญหาทางจิตเวชส่วนใหญ่ได้
-
คลินิกผู้ป่วยนอกมีข้อจำกัดในการบริการผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉิน จึงอาจเป็นสถานที่ที่ไม่เหมาะในการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการด้านพฤติกรรมที่รุนแรง เช่น มีพฤติกรรมก้าวร้าว พูดจาเสียงดัง กระสับกระส่ายกระวนกระวายเป็นอย่างยิ่ง หรือ มีพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีพฤติกรรมพร้อมที่จะทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น
-
หากท่านหรือคนสำคัญของท่านมีพฤติกรรมความเจ็บป่วยที่มีความรุนแรง เราแนะนำให้ไปที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลใกล้บ้านของท่าน หรือโทรสายด่วนสุขภาพจิต หมายเลข 1323 หรือ ติดต่อสอบถามที่กายใจคลินิกได้ที่เบอร์ 093-332-2511 ระหว่างเวลา 16.30-20.00 น. ในวันจันทร์-ศุกร์และ 10.00-16.00 น. ในวันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์
8. ค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไร
-
ค่าตรวจวินิจฉัย ตรวจสภาพจิต ให้คำปรึกษา ทำจิตบำบัด อยู่ในขอบเขตของอัตราการให้บริการของราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
-
ค่ายา เจาะเลือด หรือ การตรวจอื่นๆทางห้องปฏิบัติการ สอดคล้องอยู่ในช่วงราคาของคลินิกเฉพาะทางอื่นๆ
-
หากมีข้อสงสัยเรื่องค่าตรวจรักษา กรุณาโทรสอบถามได้ที่กายใจคลินิก
9. จะติดต่อเราได้อย่างไรบ้าง
-
มาหาเราที่กายใจคลินิก
-
โทรมาที่เบอร์ 093-332-2511, 093-597-9997
-
หากท่านเริ่มเป็นผู้รับบริการของเราแล้วและมีข้อสงสัย อาการ ปัญหาจากการรักษา กรุณาโทรมาแจ้งคำถามกับพยาบาลหรือผู้ช่วยของเรา เพื่อจะแจ้งข้อมูลให้ทีมแพทย์ทราบ และทีมแพทย์จะติดต่อกลับภายใน 24-48 ชั่วโมง
-
Email มาหาเราที่ bodyandmindclinic.bkk@gmail.com โดยเจ้าหน้าที่และทีมแพทย์จะพยายามตอบกลับภายใน 24-48 ชั่วโมง
-
ติดต่อมาทาง Line ID : @bodyandmindclinic1
-
หากปัญหาของท่านมีความรุนแรงฉุกเฉิน กรุณาติดต่อไปที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือไปที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลใกล้บ้านของท่าน